หลายสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจแปลกใจกับการเด้งกลับมาโต 3.2% ของเศรษฐกิจจีนสำหรับไตรมาสที่สอง
หลังจากที่หดตัวลง 6.8% ในไตรมาสแรก
ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ประเทศเดียวในโลก ที่ทำท่าว่าจะฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นประเทศแรก
แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่า อัตราโตทางเศรษฐกิจทั้งปีของจีนจะโตได้ 2-3% อย่างที่สื่อทางการจีนนำเสนอหรือไม่
เมื่อรัฐบาลจีนบอกว่าจะไม่มีการตั้งเป้าอัตราโตของจีดีพีทั้งปีเพราะความไม่แน่นอนสูงมาก ตัวเลขอะไรก็แล้วแต่ย่อมถูกมองว่า "ต่ำกว่าที่ประเมิน" หรือ "ดีเกินคาด"
แต่นักวิเคราะห์บางสำนักทำนายว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จีนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
ที่รัฐบาลจีนเป็นห่วงพิเศษอาจจะไม่ได้อยู่ที่อัตราโตของผลผลิตมวลรวม หากแต่พุ่งความพยายามไปที่จะไม่ให้ตัวเลขคนว่างงานสูงเกินกว่าที่จะรับได้
เพราะหากคนว่างงานสูงจะเกิดปัญหาไม่เฉพาะปากท้องเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่ปัญหาความวุ่นวายทางสังคมได้
ข้อหลังนี้แหละที่ผู้นำจีนมีความกังวลเป็นพิเศษ เพราะจำนวนนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่มีเกือบ 9 ล้านคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการฟื้นตัวในไตรมาสสองของจีน เป็นผลจากความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19
มองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มาตรการผ่อนคลายจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะมีส่วนช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศ
มองต่อด้วยว่าเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 (YoY)
การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนจากอานิสงส์ของมาตรการภาครัฐ
แต่ภาคการส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจกสิกรไทยมองการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี 2563 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-3.0 ต่อปี
ภาคการผลิตของจีนเริ่มกลับมาดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง
สะท้อนได้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 4.8 (YoY) ในเดือนมิถุนายน 2563 จากที่ติดลบถึงร้อยละ 8.4 (YTD, YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563
แต่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Industrial Capacity Utilization) ในไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ร้อยละ 74.4 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งปี 2562 ที่ร้อยละ 76.5
ชัดเจนว่าภาคการผลิตของจีนยังไม่กลับไปสู่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้โดยเฉลี่ยถึงราวร้อยละ 7.0 (ค่าเฉลี่ยปี 2562)
ที่น่าสนใจคือ การส่งออกของจีนในไตรมาสที่สองพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.14 (YoY) จากที่ติดลบถึงร้อยละ 13.4 (YoY) ในไตรมาสที่หนึ่ง
เป็นอานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางแพทย์ที่ขยายตัวสูง เช่น อุปกรณ์วัดไข้ ขยายตัวร้อยละ 482 (YoY) หรือผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย ขยายตัวถึงร้อยละ 2,400 (YoY) ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563
ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภาคเอกชน ถึงแม้ยังไม่สามารถพลิกกลับมาขยายตัว แต่อยู่ในทิศทางที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของตัวเลขค้าปลีกที่ติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ 1.8 (YoY) ในเดือนมิถุนายน 2563 จากที่ติดลบถึงร้อยละ 19.64 (YTD, YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือสิ่งที่เรียกว่า "ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์" ที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในหลายๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เดินหน้าคว่ำบาตรจีนเรื่องฮ่องกง (ยกเลิกกฎหมายสถานะพิเศษของฮ่องกง)
หรือการเตรียมจะห้ามเจ้าหน้าที่รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์เข้าสหรัฐฯ โดยที่จีนตอบโต้ด้วยการห้ามนักการเมืองอเมริกันบางคนเข้าจีน
จีนกับอเมริกา "เจ็บ" จากการแลกหมัดทางการค้า การเมือง และไซเบอร์
ตอนนี้อยู่ที่ใครจะเจ็บมากกว่าใครเท่านั้น
ทรัมป์จะเจ็บหนักกว่าถ้าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไตรมาสสองแย่กว่าของจีนอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งแนวโน้มก็กำลังจะออกมาเช่นนั้นจริงเสียด้วย.
July 24, 2020 at 10:47PM
https://ift.tt/2CLrhUj
จีนวันนี้: จีดีพีสำคัญ น้อยกว่าตัวเลขคนว่างงาน - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2ALcrvP
Bagikan Berita Ini
0 Response to "จีนวันนี้: จีดีพีสำคัญ น้อยกว่าตัวเลขคนว่างงาน - ไทยโพสต์"
Post a Comment